รู้จักกับประเทศเนเธอร์แลนด์ (The Netherlands) : เรียนรู้ภาษาดัตช์ก่อนเที่ยว


เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสนใจ เพราะความสวยงามของดอกไม้นานาชนิดๆ โดยเฉพาะดอกทิวลิป บวกกับความความงดงามของทิวทัศน์ทุ่งหญ้า สายน้ำ กังหันลม และเอกลักษณ์เฉพาะของอาคารบ้านเรือนที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป

กังหันลมที่ซานเสอะ-สคันส์ (Zaanse Schans) ในช่วงเดือนธันวาคม 

นักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง มักจะเลือกมาเที่ยวที่เนเธอร์แลนด์กับบริษัททัวร์ต่างๆ ที่จัดเที่ยวเนเธอร์แลนด์ผนวกไปกับการเที่ยวประเทศในยุโรปอื่นๆ เช่น เยอรมนี เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส รวมถึงอังกฤษด้วย แต่อันที่จริงการมาเที่ยวในเนเธอร์แลนด์ด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ และถ้าคุณไม่อยากที่ยวเองทั้งหมด คุณก็สามารถใข้บริการทัวร์ภายในประเทศ ซึ่งมีให้บริการที่เนเธอร์แลนด์ได้ ซึ่งคุณก็จะมีโอกาสพบเจอเพื่อนใหม่จากหลาย ๆ ประเทศที่มาใช้บริการทัวร์ดังกล่าวด้วย

ธรรมชาติตามชานเมืองในประเทศเนเธอร์แลนด์ 

สิ่งสำคัญเมื่อคุณวางแผนมาเที่ยวเนเธอร์แลนด์ด้วยตัวเอง หรือวิธีไปร่วมกับทัวร์ในเนเธอร์แลนด์ก็คือ คุณควรจะสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมันได้ค่ะ เพราะทัวร์เหล่านี้มักจะมีไกด์ที่สื่อสารด้วยภาษาดังกล่าว แต่คนเนเธอร์แลนด์เองไม่ได้ใช้ภาษาเท่าที่เราเกริ่นๆไว้ข้างต้นสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันหรอกค่ะ เขามีภาษาของตนเองค่ะ เช่นเดียวกับคนไทยที่ใช้ภาษาไทย คนดัตซ์ก็ใข้ภาษาดัตซ์ค่ะ คนดัตซ์เองเรียกภาษาของตนเองว่า “ภาษาเนเธอร์แลนด์" (เนเดอร์ลันด์ส-Nederlands) แต่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ภาษาดัตช์" (Dutch) เพราะคนอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกันคนเนเธอร์แลนด์ในระยะแรกๆ คิดว่าคนเนเธอร์แลนด์พูดภาษาเยอรมัน ซึ่งเรียกว่า "ดอยท์ช" (Deutsche) นอกจากภาษาดัตซ์แล้ว ชาวเนเธอร์แลนด์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดฟริสแลนด์ (Friesland) ซึ่งอยู่ภาคเหนือของประเทศ จะใช้ภาษาเฉพาะของตนเองอีกภาษาหนึ่ง ภาษานี้เรียกว่า ฟรีเซียน (Frisian)


อักษรดัตซ์และการออกเสียง


ภาษาดัตช์และภาษาฟรีเซียน เป็นถาษาที่มีต้นตระกูลเดียวกับภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ (Germanic) ที่เราใช้กันอยู่แพร่หลายทุกวันนี้ ถ้าคุณมีพื้นฐานภาษาอังกฤษอยู่บ้าง ก็ช่วยคุณให้สามารถเข้าใจภาษาดัตซ์ได้ง่ายขึ้นค่ะ ซึ่งในภาษาดัตซ์นั้นมีอักษรใช้เหมือนภาษาอังกฤษทุกตัว จำนวน 26 ตัว แต่การออกเสียงจะต่างจากภาษาอังกฤษดังนี้

A - อา, B - เบ, C - เซ, D - เด, E - เอ, F - เอฟ, G - เค*, H - ฮา, I - อิ, J -เย, K - กา, L - แอล, M - เอ็ม, N - เอ็น, O - โอ, P - เป, Q - คือ, R - แอร์, S - เอส, T - เต, U - อือ, V - เฟ, W - เว, X - อิกซ์, Y - เอิย/คลิกซ์เอิย, Z - เซ็ดส์

* (เสียง G - เค นี้จะมีการออกเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนดัตซ์ คือ เค้นเสียงออกมาผ่านลำคอ คล้ายๆ เราพยายามจะขากสเลดออกมา) เราเองฝึกนานมากๆ กว่าจะออกเสียง G ได้ ถ้าคุณสนใจอยากจะฝึกออกเสียงพยัญชนะภาษาดัตซ์ เราก็อยากแนะนำให้ลองเข้าไปดู และฝึกจากวิดีโอนี้ค่ะ https://youtu.be/YIf3ukVvFRM

สำหรับการออกเสียงโดยทั่วไปนั้น ภาษาดัตช์มีกฏการออกเสียงง่ายๆ ค่ะ คืออักษรทุกตัวในหนึ่งคำที่คุณเห็นจะต้องออกเสียงทุกตัวค่ะ และถ้าอักษรใดอยู่โดดๆ มันจะมีสระเอ่อะเสมอค่ะ ตัวอย่างเช่น คำว่า herfst ออกเสียง แฮ้-รึฟ-ซ์-ท์ แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง และอีกตัวอย่างหนึ่งคือคำว่า paard ออกเสียง ป๊า-รึด-ท์ แปลว่า ม้า

เรียนรู้ภาษาดัตซ์ฉบับนักท่องเที่ยว


หากคุณมาเที่ยวที่เนเธอร์แลนด์ แค่คุณสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้บ้าง คุณก็สามารถเที่ยวที่นี่ได้อย่างสบายค่ะ เพราะชาวดัตซ์ทั่วไปสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณที่จะสื่อสารกับคนดัซต์ได้เข้าใจ แต่การมาเที่ยวของคุณคงมีสีสัน และรสชาติมากขึ้น ถ้าคุณรู้ภาษาดัตซ์บ้างนิดหน่อย บทความนี้เราจึงอยากจะนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับภาษาดัตซ์มาฝาก เพื่อให้คุณได้มีโอกาสฝึกฝนก่อนจะมาเที่ยวที่นี่ ขอรับประกันว่าทริปเที่ยวเนเธอร์แลนด์ของคุณจะสนุกขึ้นเป็นกองเลยค่ะ ซึ่งเราขอแบ่งเกร็ดความรู้เกี่ยวกับภาษาดัตซ์เป็นหมวดหมู่ ดังนี้

ป้ายห้ามเข้าและห้ามตกปลา พร้อมระบุโทษตามกฏหมายถ้าฝ่าฝืน

1. ตัวอยางป้ายห้ามและคำแนะนำ


สำหรับการมาเที่ยวประเทศเนเธอร์แลนด์ คุณมักจะไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องการอ่านป้ายห้าม และคำเตือนไม่ออก เพราะป้ายส่วนใหญ่มักจะมีรูปภาพประกอบให้คุณเข้าใจคำสั่งนั้นโดยง่าย หรือกรณีที่คุณมาเที่ยวตามเมืองใหญ่ ๆ และตามสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก คุณก็มักจะพบเจอป้ายห้ามและคำเตือนเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาดัตซ์ควบคู่กันไป แต่กรณีที่คุณอยากจะเที่ยว เพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นไอของวิถีชีวิตชาวเนเธอร์แลนด์จริงๆ และคุณเลือกที่จะเดินทางไปตามชานเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่นที่มีชาวต่างชาติไม่มาก เราคิดว่าความรู้เรื่องป้ายห้ามและคำเตือนที่เราเขียนมาให้คุณได้ฝึกฝนนี้ คงมีประโยชน์สำหรับคุณมากเลยค่ะ ซึ่งป้ายห้ามและคำเตือนสำคัญที่คุณพบเห็นได้บ่อยๆ ได้แก่

       - แฟ่ร์โบ๊เดิ่น โฟโต๊ส์ เต่อะ หมากเกิ่น (Verboden foto's te maken) หรือ เคน ก๊าเม่อะร่า (Geen camera) คือห้ามถ่ายรูป

      - แฟ่ร์โบ๊เดิ่น ตุ๊ค๊าง (Verboden toegang) คือ ห้ามเข้า

      - แฟ่ร์โบ๊เดิ่น ฟอร์ ฟุ๊ตขังเหง่อร์ส์ (Verboden voor voetgangers) คือ ห้ามคนเดินเท้า แต่อนุญาตเฉพาะผู้ที่ใช้ยานพาหนะ

      - แฟ่ร์โบ๊เดิ่น เต่อะ ป่าร์เกี้ยเริ่น (Verboden te parkeren) คือ ห้ามจอด

      - วั้นเดิ่ล ปั๊ด (Wandelpad) คือ ทางเดินเท้า เฉพาะบุคคลเดินเท้า ห้ามยานพาหนะทุกชนิด

      - ฟี๊ตส์ ปั๊ด (Fietspad) คือ ทางจักรยาน หรือเลนจักรยาน

      - อัฟ สะตั้นท์ เห่าเดิ่น (Afstand houden) ให้เว้นระยะห่าง เช่น 1.5 meter afstand houden หมายถึง ให้รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น 1.5 เมตร


2. คำสำหรับเรียกแทนชื่อ


ในบางสถานการณ์ที่คุณต้องการจะถามอะไรสักอย่างกับใครสักคน และเราไม่รู้จักชื่อเขา เราคนไทยก็มักจะเรียกเขาว่า "คุณคะ หรือคุณป้าคะ คุณลุงคะ เป็นต้น" เมื่อคุณจะคุยกับคนดัตซ์ คุณก็สามารถใช้คำสุภาพแทนชื่อคนได้ดังนี้ค่ะ

       - ผู้ชาย เรียกว่า เมอะ เนียร์ (meneer)

       - ผู้หญิง เรียกว่า เมาะ เฟราว์ (mevrouw)

       - เด็กผู้ชายหรือเด็กหนุ่ม เรียกว่า ยง เงิ่น (jongen)

       - เด็กผู้หญิงหรือเด็กสาว เรียกว่า เมิ้ยส์ เช้อะ (meisje)

ถ้าคุณเรียกคนดัตซ์ด้วยคำเหล่านี้ รับรองได้ว่าเขาจะหันมาหาคุณ และเขาคงอยากจะคุย หรือตอบคำถามคุณแน่นอนค่ะ อย่างไรก็ตามคุณสามารถใช้วิธีการอื่นสำหรับเรียกร้องความสนใจ หรือ ทักทายว่ามีคนอยู่มั้ย เช่น บางครั้งคุณเดินเข้าไปในร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร แต่ไม่มีพนักงานโผล่มาให้บริการเลยสักคน หรือเพื่อเรียกคนที่อยู่ใกล้เคียงให้หันมาสนใจคุณ คุณก็สามารถส่งเสียงเรียก ฮัลโล (Hallo) หรือ ปาร์ดน (Pardon) ได้ค่ะ

3. การทักทายและการร่ำลา


เมื่อคุณไปเดินเล่นแถวๆ สวนสาธารณะที่กรุงเทพฯ และคุณเดินสวนทางกับคนอื่น และคุณไปทักทายเขา เขาอาจจะคิดว่าคุณนี่แปลกจัง แต่ที่เนเธอร์แลนด์ การทักทายกับคนที่เดินสวนผ่านเราไป หรื่อขี่จักรยานสวนกันไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ ในอีกกรณีหนึ่งที่คนมักจะทักทายกันถึงแม้จะไม่รู้จักกันก็คือ เวลาเราจะชำระเงินให้พนักงานตามร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่อยู่หลังเค้าเตอร์ คุณควรจะทักเขาก่อนที่จะบอกว่า ฉันมาจ่ายเงินนะ หรือฉันมาติดต่อธุระนะ และคุณควรจะบอกลาเขาด้วยเมื่อคุณทำธุระกรรมต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว เราจึงมีคำทักทาย และคำร่ำลามาให้คุณได้ฝึกฝนดังนี้ค่ะ

คำทักทาย

       - คำทักทายสำหรับคนที่คุ้นเคยสนิทสนม ในภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า หวัดดี - โห้ย (Hoi)

       - สำหรับทักทายทั่วไป ใช้ได้ตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดเวลา คือ สวัสดี - คู้ดเดิ้นดัค (Goeden dag)

       - คำทักทายตอนเช้า จนถึงเที่ยงวัน คือ อรุณสวัสดิ์ - คุ้ดเด่อะ ม๊อร์เคิ่น (Goede morgen)

       - คำทักทายสำหรับการสวัสดีกันตอนกลางวัน ตั้งแต่หลังเที่ยงเป็นต้นไป - คู้ดเด่อะมิดดัค (Goede middag)

       - คำทักทายสำหรับสวัสดีกันตอนเย็น ตั้งแต่ประมาณหกโมงเย็นเป็นต้นไป - คู้ดเด่อะอาฟนท์ (Goede avond)

       - คำที่ใช้สำหรับบอกลาก่อนนอน ซึ่งตรงกับคำบอกลาก่อนนอนในภาษาไทย คือ ราตรีสวัสดิ์ - เววล์เทอะรึสเติ้น (Welterusten)


คำร่ำลา


คำร่ำลาที่ใช้บ่อยที่สุดสำหรับคนแปลกหน้าในภาษาไทยซึ่งเป็นคำกลางๆ และสุภาพ ก็คือ “สวัสดี" และ “แล้วพบกันใหม่" ในภาษาดัตซ์ ก็มีคำที่ใช้บ่อยสำหรับการบอกลาทั่วๆ ไป คือ ดั๊ก (Dag) แปลว่า สวัสดี และ โต๊ดท์ซีน (Tot ziens) ซึ่งแปลว่า พบกันใหม่นะคะ

แต่ถ้านัดหมายกับใครไว้และอีกไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมงจะมาพบกันใหม่จะใช้คำว่า โต๊ดโซ (Tot zo) หรือ โต๊ด สตรั๊กส์ (Tot straks) ซึ่งแปลว่า เดี๋ยวเจอกัน

ถ้าคุณไม่รู้ว่าเมื่อไหร่กันแน่อาจจะเร็วๆนี้ หรืออาจจะนานกว่าจะพบกันอีกก็ใช้คำว่า โต๊ด เด่อะ โฟเคิ่นเด่อะเกียร์ (Tot de volgende keer) หรือ โต๊ด ล้าเตอร์ (Tot later) แปลว่า โอกาสหน้าเจอกันค่ะ


4. การถามทุกข์สุข


คนไทยมักจะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันด้วยคำว่า "สบายดีไหม" ในถาษาดัตซ์มีประโยคหลายประโยคที่มีความหมายแบบเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันได้แก่

       - ฮู ค้าด เห็ท เม็ท อื้อ? (Hoe gaat het met u?) แปลว่าคุณสบายดีไหม?

       - ฮู อี้ส เห็ท? (Hoe is het?) แปลว่าสบายดีเหรอ?

       - อัลเลิศ คู๊ท? (Alles goed?) แปลว่า สบายดีมั้ย หรือทุกอย่างเป็นไปด้วยดีไหม?

       - ค๊าด เห็ท คู๊ท เม็ท อือ? (Gaat het goed met u?) แปลว่าคุณสบายดีมั๊ย?

5. คำอวยพร


อันที่จริงเราลังเลอยู่ว่าควรจะเขียนเกี่ยวกับคำอวยพรในบทความนี้ดีมั้ย เพราะโอกาสที่คุณจะได้ใช้คำเหล่านี้ในทริปเที่ยวเนเธอร์แลนด์ สไตล์ดัตซ์ของคุณคงมีน้อยมาก ถือว่าเป็นของแถมจากเรา และเรียนรู้ไว้เผื่อว่าคุณจะมาผูกมิตรกับหนุ่มสาวชาวดัตซ์ไว้ละกันนะคะ ซึ่งคำที่ใช้กันบ่อยๆ ได้แก่

       - ซึกเซ้ส (Succes) แปลว่า ขอให้ประสบความสำเร็จนะ

       - เฟล เปล่อะเซียร์ (Veel plezier) แปลว่า ขอให้สนุกนะ

       - สะแตร๊กเต่อะ (Strekte) แปลว่า ขอให้แข้มแข็ง อดทนนะ สู้ๆ เป็นกำลังใจให้

       - เบ้ เต้อร์ สคัป (Beterschap) แปลว่า หายป่วยเร็วๆนะ

       - เอ๊ท สะมั้ก เก่อะหลึก (Eet smakelijk) แปลว่า ทานอาหารให้อร่อยนะคะ


6. การขอโทษ


ภาษาดัตช์มีประโยคสำหรับใช้ในการขอโทษหลากหลาย มากมายค่ะ เราขอยกมาแค่บางคำ และบางประโยคที่ฝึกได้ไม่ยาก และใ้กล้เคียงกับภาษาอังกฤษได้แก่

       - ชอร์รี่ (Sorry) คือ คำขอโทษที่ใช้ในกรณีทั่ว ๆ ไป เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งที่ไม่รุนแรง เช่น เมื่อเราพูดแทรกคนอื่น เมื่อคุณทำอะไรผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น คุณนัดหมายกับเพื่อนไว้ แค่คุณมาสายเป็นต้น

       - ปาร์ดน (Pardon) ใช้ในกรณีทั่ว ๆ ไปได้เหมือนกัน เท่าที่เรามีประสบการณ์ ชาวดัตซ์มักใช้คำนี้เพื่อขอทาง หรือกรณีที่เราเดินไปกระทบกระแทกบางคนโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือกรณีที่มีคนพูดกับเราและเราได้ยินไม่ชัด และเราจะขอให้เขาพูดใหม่ เพราะเราไม่ได้ยิน

       - เห็ท สไปิ้ยท์ เม่อะ (Het spijt me) ใช้ในกรณีที่เราสำนึกผิด ตรงกับคำว่า ฉันเสียใจ ฉันผิดไปแล้ว ยกโทษให้ฉันเถอะ ซึ่งเป็นการขอรับผิดกับสิ่งที่ทำลงไป

       - เมิยน์ เอ็กซึคื้ส (Mijn excuus) ใช้คล้าย ๆ กับ Het spijt me คือ ความผิดของฉันเอง ขอโทษด้วย

       - เนม เม่อะ นี้ท ควา-หลึก (Neem me niet kwalijk) มีความหมายเดียวกับ Mijn excuus และ Het spijt me แต่จะเน้นไปตรงยกโทษให้ฉันด้วย บางครั้งก็ใช้คำนี้ต่อจากคำข้างต้น เช่น Het spijt me. Neem me niet kwalijk. หรือ Mijn excuus. Neem me niet kwalijk.


7. การขอบคุณ


สำหรับการขอบคุณทั่ว ๆ ไป เช่นเดียวกับที่เราคนไทยพูดคำว่า "ขอบคุณค่ะ" หรือ "ขอบคุณครับ" คนดัตซ์ ก็ใช้คำว่า ดั๊ง กู เววล์ (Dank u wel) และ เบ่อะ ดั๊ง (Bedankt)

กรณีที่คุณต้องการขอบคุณคนคนนั้นมากเป็นพิเศษ เหมือนกับคนไทยที่ใช้คำว่า “ขอบคุณม๊าก มาก“ หรือ “ขอบคุณเหลือเกินไม่รู้จะตอบแทนยังไงแล้ว“ เราก็ใช้คำว่า ฮาร์ท สะติกเกอร์ เบ่อะดั๊งก์ท์ (Hartstikke bedankt) หรือ เฮล แอ้รึค เบ่อะ ดั๊ง (Heel erg bedankt)


เราหวังว่าคุณคงได้ประโยชน์จากภาษาดัตซ์ฉบับเรียนรู้ก่อนมาเที่ยวเนเธอร์แลนด์ที่เราเขียนในบทความนี้นะคะ และถ้าคุณมีคำแนะนำ หรือว่ามีความต้องการอยากจะเรียนรู้ภาษาดัตช์มากขึ้นก็โพสต์ความคิดเห็นมาได้เลยค่ะ แล้วเจอกันโพสต์หน้านะคะ

ความคิดเห็น